ผู้สมัครงาน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเดินทางกลายเป็นเรื่องที่หลายคนหลงใหล และบางคนก็ถึงขั้นหลงรักสุดๆ เพราะนอกจากจะได้พักผ่อนหย่อนใจ ยังได้ลุ้นระทึกกับประสบการณ์ที่มีทั้งเรื่องสนุก ตื่นเต้น หรือแม้กระทั่งดราม่าตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าสนามบิน แต่หากการเดินทางวันนั้นดันกลายเป็นวันที่แย่ที่สุดล่ะ จะทำยังไงดี?
ก็การเดินทางมันอาจจะไม่ราบรื่นเสมอไป บางครั้งแผนที่วางไว้ดันล่ม หรือไฟลท์บินเกิดดีเลย์ และเหตุฉุกละหุกอื่นๆ อีกมากมาย จนทำให้คุณอยากสบถออกมาดังๆ ว่า 'โชคร้ายอะไรขนาดนี้' แต่รู้ไหมว่า ความโชคดีก็มักจะตีซี้ มาประกบกับเรื่องแย่เหล่านี้ได้เช่นกัน เพียงแค่คุณรู้จักทริกกู้วิกฤติ เล็กๆ น้อยๆ อย่าง 10 ทริกต่อไปนี้ที่เรานำมาฝากกัน ลองเอาไปทำตามดู รับรองว่าไม่ยาก
1. เตรียมถุงซิปล็อกสำรอง
จัดเก็บของเหลวใส่ถุงซิปล็อกใสให้พร้อม
ตั้งแต่ TSA (Transportation Security Administration) กำหนดให้แยกของเหลวใส่ไว้ในถุงพลาสติกใส ไอเดียเจ๋งๆ จึงเกิดเป็นถุงพลาสติกใสแบบซิปล็อกขึ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในกรณีที่คุณต้องซื้อของเหลวปริมาณเล็กๆ ขึ้นเครื่องในนาทีทันด่วน แต่ไม่ต้องห่วง เพราะสนามบินมีบริการจัดเตรียมถุงซิปล็อก ขนาด 20×20 เซนติเมตร ไว้ให้ที่โต๊ะหน้าเคาน์เตอร์เช็กอิน 1 ถุง ต่อ 1 คน และของเหลวเมื่อรวมกันแล้วต้องห้ามเกิน 1 ลิตร นะจ๊ะ
2. Freeze ให้แข็งก่อนขึ้นเครื่อง
เอาของเหลวไปแช่แข็งซะ จะได้หมดปัญหา
การ freeze ของเหลวบางจำพวกที่อยากนำขึ้นเครื่อง เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์สด หรือเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียที่เวิร์ก ซึ่งหากแช่แข็ง รวมถึงแพ็กของเหล่านี้ให้เรียบร้อย ก็สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่มีปัญหา
3. นอนหลับให้สบาย (ใจ)
พักผ่อนให้เพียงพอก่อนขึ้นเครื่อง
ถ้าคุณอยู่ต่างประเทศ เช็กก่อนเลยว่าที่สนามบินที่คุณจะเดินทางนั้น มีบริการที่พักหรือเปล่า เพราะบางสนามบิน เช่น ฮีทโธรว์ ของลอนดอน ก็มีที่นอนให้คุณสามารถพักผ่อนได้ ระหว่างที่รอเปลี่ยนเครื่องนานๆ ซึ่งเราสามารถอาบน้ำ หลับพักผ่อนได้แบบสบายตัวที่สนามบิน ดีกว่านอนหลังขดหลังแข็งตามเก้าอี้นะจ๊ะ ที่สำคัญอย่าลืมเช็กราคาด้วยล่ะ
4. ชิดซ้ายเลย (เพ่)
ต่อแถวเช็กอินให้รวดเร็วต้องชิดซ้าย
ถ้าคุณเกลียดการยืนรอต่อแถวนานๆ เวลาเช็กอินเข้าไปในเกต (Gate) หรือต่อแถวเวลาผ่าน ตม. คุณจะสังเกตได้ว่า คนส่วนใหญ่มักจะไปยืนต่อแถวทางขวามือเป็นอันดับแรก ดังนั้นเมื่อเราต้องการความรวดเร็ว ไม่ต้องรีรอ เดินตรงดิ่งไปแถวซ้ายสุดเลย เร็วกว่าเห็นๆ
5. Power Bank ต้องห้าม…ลืม
ห้ามลืมพาวเวอร์แบงก์เด็ดขาดนะหนุ่มสาว
ถึงแม้ว่าบางสนามบินมักจะมีจุดบริการชาร์จแบตเตอรี่ แต่ไม่สะดวกเอาซะเลย เพราะต้องคอยกังวลว่า จะมีมือดีคว้ามือถือไปตอนเราเผลอรึเปล่า จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราพกที่ชาร์จแบตเตอรี่สำรองไปเอง คราวนี้ก็เบาใจหน่อยว่า ถึงอย่างไรมือถือก็อยู่ใกล้ตัวมากกว่า จะเดินไปไหนมาไหนก็สะดวกกว่ากันเยอะ แต่อย่าลืมว่า ความจุของแบตเตอรี่สำรองที่พก ต้องไม่เกิน 32,000 mAh สำหรับนำขึ้นเครื่องนะจ๊ะ
6. Travel Kit จากโรงแรม เริดๆ
ของใช้ตามโรงแรม เก็บขวดมาไว้ใช้ต่อก็ไม่เสียหาย
เมื่อเราเดินทางบ่อย อย่าลืมหยิบขวด สบู่ แชมพู อันเล็กๆ ที่ใช้หมดแล้วจากห้องพักในโรงแรมนำติดตัวไปสนามบินด้วย เผื่อไว้เป็นดี เพราะขวดขนาดเล็กเป็นอุปกรณ์ที่เลิศมากสำหรับใส่ของเหลวเตรียมขึ้นเครื่อง แถมไม่ต้องซื้อขวดใหม่ให้เปลืองเงินอีกด้วย เริดนะจะบอกให้
7. เช็กสัญญาณอินเทอร์เน็ต Free WI-FI
เช็กสัญญาณอินเทอร์เน็ตทุกที่ก่อนเสมอ
มีเคล็ดลับอย่างหนึ่ง สำหรับการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต เพียงแค่ใส่ “?.jpg” ต่อท้าย URL ก็จะช่วยให้คุณเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต Free WI-FI ได้รวดเร็ว ดี๊ดีนะ
8. ทิชชูเปียก กู้วิกฤติ
ทิชชูเปียกช่วยคุณได้
เครื่องบินเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เป็นศูนย์ของเชื้อโรค และอุบัติเหตุเดินชนชา กาแฟ น้ำส้ม และสารพัดของเหลวจะหกใส่เสื้อ ก็เกิดขึ้นได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินหาห้องน้ำที่อยู่ไกลเป็นโยชน์ในเวลาเร่งด่วน อีกทั้งกังวลต้องลากสัมภาระเดินไปเดินมา แค่มีทิชชูเปียกพกติดตัวไว้ก็สบายไปแปดอย่างแล้ว
9. เช็กสถานการณ์ของสนามบินแบบ Real-Time
เช็กสถานการณ์ของสนามบินก่อน เผื่อเที่ยวบินดีเลย์นะจ๊ะ
ก่อนออกจากที่พัก เช็กข่าว หรือสถานการณ์ที่สนามบินไว้ก่อนเป็นดี ดูว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามบินบ้าง ดีซะอีก ถ้าไฟลท์ดีเลย์ หรือยกเลิกเที่ยวบิน คุณก็ยังมีเวลาไปทำอะไรอย่างอื่นได้มากกว่านั่งเซ็งอยู่ที่สนามบิน จริงมั้ย?
10. ดาวน์โหลด Google Maps ออฟไลน์
ดาวน์โหลดแผนที่แบบออฟไลน์
ในกรณีที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรือ wifi และคุณเองก็ไม่มีแผนที่หรือข้อมูลการเดินทางที่เพียงพอ การโหลดแอพพลิเคชั่น Google Maps ไว้ก่อนในรูปแบบออฟไลน์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ควรมองข้าม ดีกว่าหลงทิศหลงทางจะเสียเวลาไปเปล่าๆ
ลองเอาทั้ง 10 ข้อ ไปปรับใช้ดู ไม่ว่าจะเดินทางในประเทศ หรือต่างประเทศ ก็น่าจะช่วยให้วันเดินทางท่องเที่ยวของคุณ เบา โล่ง สบายตัว สบายใจ มากขึ้นไปได้อีกแน่นอน
ที่มา : นิตยสาร สุดสัปดาห์
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved